โครงการ AI Space Challenge โครงการแรกที่จะเปิดโอกาสให้เยาวชนได้เสนอไอเดีย และ Implement งานด้าน AI (Artificial Intellignece) และ Machine Learning บนอวกาศ โดยใช้ประโยชน์จาก AI Box ของ Ice Cubes แพลตฟอร์มการทดลองล่าสุดบนโมดูล Columbus ของ ESA บนสถานีอวกาศนานาชาติ งานนี้ให้สิทธิ์เฉพาะประเทศในชาติอาเซียนและไต้หวันเท่านั้น
การแข่งขันนี้จัดโดย 3 บริษัทอวกาศสัญชาติอาเซียนและไต้หวัน และบริษัท Space Application Service ผู้ได้สิทธิ์การใช้งานโมดูล Columbus บนสถานีอวกาศนานาชาติเชิงการค้า ได้แก่บริษัท Space Zab จากประเทศไทย (เจ้าของผลงาน หินดวงจันทร์จำลอง Thailand Lunar Simulant และ KEETA ทีมไอเดียอาหารไทยที่เข้ารอบ 10 ทีมสุดท้ายของโครงการ NASA Deep Space Food Challenge) ร่วมมือกับบริษัท Gran Systems จากไต้หวัน, Zenith จากสิงคโปร์ และได้รับการสนับสนุนจากบริษัท ST Engineering Geo-Insights ประเทศสิงคโปร์
การแข่งขันทำ Machine Learning บนอวกาศ ครั้งแรก
ปัจจุบันในการสำรวจอวกาศ เราได้เห็นการนำ AI/ML มาใช้ในแง่ต่าง ๆ กันมากขึ้น ตั้งแต่การพัฒนาจรวดและยานอวกาศให้สามารถลงจอดได้อย่างแม่นยำมากขึ้น (กรณีของ Falcon 9) การพัฒนาระบบ Docking หรือการเชื่อมต่อกับยานอวกาศ แต่นั่นคงไม่ใช่ทั้งหมด เพราะ ณ ทุกวันนี้ มนุษย์เผชิญความท้าทายใหม่ ๆ ในการสำรวจอวกาศ ไม่ว่าจะเป็นด้านพลังงาน, ด้านอาหาร, ด้านสุขภาพ โดยเฉพาะในยุคปัจจุบันที่มนุษย์กำลังวางแผนการเดินทางที่ไกลขึ้น ยากขึ้น และซับซ้อนขึ้น AI/ML จึงเป็นหนึ่งตัวช่วยที่จะช่วยพาให้มนุษย์ใช้งาน Neural Network ในการแก้ไขปัญหายาก ๆ ได้

การแข่งขันครั้งนี้ ชวนเยาวชนมาออกแบบวิธีการคิดและใช้งาน AI/ML ในการเปิดโอกาสและทลายข้อจำกัดในการสำรวจอวกาศ โดยใช้ประโยชน์จาก Dataset จาก Sensor ต่าง ๆ ที่ติดตั้งอยู่บนสถานีอวกาศนานาชาติ และทำการ Train, Run สร้างโมเดล โดยใช้ Edge Computer (คอมพิวเตอร์ที่ติดตั้งอยู่ใกล้กับแหล่งข้อมูลเพื่อลดการหน่วงในการประมวลผล) ซึ่งเป็น NVIDIA Jetson Xavier พร้อมพลังการประมวลผลสูงถึง 472 Giga Flops นับว่าเป็นคอมพิวเตอร์ที่แรงที่สุดบนสถานีอวกาศนานาชาติ ซึ่งจะถูกส่งขึ้นไปในภารกิจ CRS-24 ของ SpaceX ในเดือนธันวาคม 2021 ภายใต้โครงการของบริษัท Space Application Service เจ้าของแพลตฟอร์ม Ice Cubes
ผู้ชนะเลิศ จะได้ใช้แพลตฟอร์มดังกล่าวในการทำการทดลองเป็นเวลา 3 เดือน ในช่วงปี 2022 โดยนับว่าจะเป็นผู้ใช้งานกลุ่มแรก ๆ ที่ได้ใช้งานคอมพิวเตอร์ AI Box นี้ ก่อนจะเปิดให้นักวิทยาศาสตร์จากทั่วโลกใช้ในการทำงานวิจัย ผู้รองชนะเลิศอีกสองรางวัล จะได้รับการเทรนจากบริษัทผู้จัดการแข่งขันและสปอนเซอร์ เพื่อให้สามารถพัฒนาไอเดียดังกล่าว (และถ้าน่าสนใจ อาจได้รับสนับสนุนให้ทดลองจริงเช่นกัน) นี่จึงเป็นโอกาสที่ผู้แข่งขันจะได้ทำงานร่วมกับบริษัทอวกาศระดับโลกอย่างใกล้ชิด และเข้าใจการทำงานร่วมกับสถานีอวกาศนานาชาติ
ใครสามารถสมัครได้บ้าง และสมัครอย่างไร
การแข่งขันนี้เปิดให้สำหรับ นิสิต, นักศึกษา, นักเรียน ในระดับอุดมศึกษาหรือเทียบเท่า ที่กำลังศึกษาในระดับปริญญาตรี (หรือเทียบเท่า) โดยจะเทียบสถานะเป็น Undergraduation
- เป็นนักศึกษา นิสิต หรือนักเรียน ที่กำลังศึกษาและยังไม่จบระดับปริญญา รวมกลุ่มกันเป็นทีม ตั้งแต่ 2 คนขึ้นไป จนถึง 5 คน
- ศึกษาในสถาบันการศึกษาในประเทศอาเซียน (มาเลเซีย, เมียนมา, กัมพูชา, ลาว, ไทย, สิงคโปร์, เวียดนาม, บรูไน, ฟิลิปินส์, อินโดนิเซีย) และประเทศไต้หวัน
- ต้องมีอาจารย์ที่ปรึกษาเป็นสมาชิกในทีมอย่างน้อย 1 คน
- ใช้ภาษาอังกฤษในการสื่อสาร, นำเสนอผลงาน และจัดการเอกสารต่าง ๆ
- ฟรีตลอดโครงการ
นอกจากนี้ โครงการยังเปิดให้ผู้สนใจสามารถลงทะเบียนเพื่อติดตามข่าวสารต่าง ๆ ได้ และสามารถเข้าร่วมกิจกรรม เช่น Workshop, งาน Event ต่าง ๆ ภายใต้โครงการได้ไม่เสียค่าใช้จ่ายเช่นกัน
โดยสามารถสมัคร และตรวจสอบเงื่อนไข ได้ที่หน้า https://aichallenge.space/registration
Workshop จัดกิจกรรมจะมีอะไรบ้าง
งานของเราไม่ใช่แค่การหาผู้ชนะ ไม่ใช่แค่การเลือกไอเดียที่ดีที่สุด แต่คือการสร้างโอกาส สร้างการรับรู้ และพาให้เยาวชนสามารถเข้าถึงการสำรวจอวกาศได้ อย่างที่เราเชื่อเสมอว่าอวกาศไม่ใช่เรื่องไกลตัว การได้ทำงานร่วมกับบริษัทอวกาศระดับโลก หรือได้เข้าใจการทำงานวิจัยบนสถานีอวกาศนานาชาติก็ไม่ใช่เรื่องไกลตัวเช่นกัน เราจึงเปิดโอกาสให้ทุกคนสามารถเข้าถึงเนื้อหาของเรา ซึ่งจะมีตั้งแต่การ เสวนา สอนเรื่องอวกาศตั้งแต่ Basic ไปจนถึง Advance โดยผู้เชี่ยวชาญที่เคยส่งการทดลองไปยังสถานีอวกาศนานาชาติมาแล้ว ไปจนถึง Workshop ออกไอเดีย ตัวอย่างการใช้งาน AI/ML บนอวกาศ
นอกจากนี้ ในเดือนธันวาคม 2021 ซึ่งเป็นช่วงที่ AI Box ของ Ice Cubes จะถูกส่งขึ้นไปติดตั้งบนสถานีอวกาศนานาชาติ เรายังจะมี Launch Party พาทุกคนมาดู Launch ร่วมกัน เพราะตอนนี้เราคือ Community เดียวกันในการทำงาน AI/ML บนอวกาศ
สามารถติดตาม Workshop ต่าง ๆ ได้ที่หน้า https://aichallenge.space/workshops
Timeline ของโครงการ
- เปิดรับสมัครผู้สนใจ และผู้เข้าแข่งขัน – 15 ตุลาคม 2021
- เสวนาออนไลน์ แนะนำโครงการ – 9 พฤศจิกายน 2021
- กิจกรรม Workshop – ตลอดเดือนพฤศจิกายน จนถึงธันวาคม 2021
- AI Box ขึ้นไปเตรียมพร้อมบนสถานีอวกาศ – ธันวาคม 2021
- ปิดรับ Proposal – 15 กุมภาพันธ์ 2022 เวลา 23:59 (ตามเวลาประเทศไทย)
- ประกาศผลผู้ผ่านเข้ารอบ – มีนาคม 2022
- นำเสนอไอเดีย – เมษายน 2022
- ประกาศผลผู้ชนะ และเริ่มโครงการทดลองบนสถานีอวกาศนานาชาติ – เมษายน 2022 เป็นต้นไป
สามารถติดตามข่าวสาร และรายละเอียดเพิ่มเติมจากการสมัครรับข้อมูลด้านบน
หากมีข้อสงสัย หรือต้องการคำแนะนำ สามารถอีเมลหาทีมผู้จัดได้ที่ [email protected] หรือพูดคุยกับ National Contact Point ของประเทศตัวเอง ซึ่งสามารถดูได้ที่หน้าเกี่ยวกับโครงการบนเว็บไซต์ aichallenge.space
สำหรับสื่อ: สามารถ Download Material ต่าง ๆ ได้ที่ Material Center / ขอข้อมูลเพิ่มเติม นัดให้ข้อมูลได้ทาง [email protected] (เติ้ล ณัฐนนท์ ดวงสูงเนิน)